วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การดูเเลองุ่น

การดูแลบำรุงรักษาหลังการปลูก
การปลูกองุ่นก็เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชอื่น ๆ แต่การบำรุงรักษาองุ่นนั้นค่อนข้างจะมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ ในการบำรุงรักษาองุ่นที่ปลูกนั้น มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1. การให้ปุ๋ย ตามปกติพืชทั่ว ๆ ไปจะต้องการ อาหารแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สำคัญ 3 ชนิด คือ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม ดังนั้น เมื่อผู้ปลูกสังเกตเห็นว่าองุ่นที่ปลูกแสดงอาการผิดปกติ ก็ต้องแก้ไขโดยการเพิ่มอาหาร แร่ธาตุต่าง ๆ ตามที่ปรากฏ เช่น เมื่อขาดธาตุไนโตรเจน ลักษณะของลำต้นจะแคระแกร็น ใบและลำต้นจะสีเหลืองซีด การเจริญเติบโตช้า แต่ถ้ามากเกินไปใบจะสีเขียวจัด ก้านเปราะ ผลสุกช้า หากขาดธาตุฟอสฟอรัส รากจะไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ใบสีเขียวเข้ม ผลแก่ช้ากว่าปกติ และหากขาดธาตุโปแตสเซียม จะเจริญเติบโตช้า เส้นใบและขอบใบมีสีเหลือง ริมใบมีสีน้ำตาล ปล้องจะถี่หรือระหว่างข้อสั้น เมื่อองุ่นที่ปลูกปรากฏอาการดังกล่าว จะต้องแก้ไขโดยการเพิ่มอาหารที่ขาดไป ไม่จำเป็นต้องใช้ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ควรใช้ปุ๋ยจำพวกอินทรียวัตถุใส่เป็นประจำ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เป็นต้น
ขณะเดียวกันควรหมั่นพรวนดินระหว่างแถวด้วยจอบ หรือเครื่อง ทุ่นแรง นอกจากจะปราบวัชพืชแล้ว ยังเพิ่มปุ๋ยพืชสดให้กับดินอีกด้วยและเป็นการลดการระเหยของน้ำในดิน
2. การให้น้ำ แม้ว่าองุ่นจะไม่ชอบดินแฉะแต่ก็ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำ น้ำไปปรุงแต่งผลให้เต่ง โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มปลูกและเริ่มติดผลอย่าให้ขาดน้ำ การปลูกองุ่นเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมน้ำไว้ให้พร้อม อาจจะขุดเป็นร่องเพื่อกักขังน้ำไว้ เมื่อองุ่นมีผลแก่เริ่มแก่จะสุก ควรงดการให้น้ำหรือให้บ้างเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ควรหาวัสดุ เช่น หญ้าแห้ง ฟางข้าวคลุม โคนต้น จะเป็นการช่วยลดการระเหยของน้ำในดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น
3. ลม ผู้ปลูกองุ่นส่วนมากมักจะไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องลมมากนัก แต่ถ้าผู้ปลูกในที่โล่งเตียนมีลมจัด จะมีผลกระทบต่อการปลูกองุ่นเหมือนกัน กล่าวคือ หากมีลมแรง ต้นองุ่นจะโยกคลอนไปตามลม ใบจะขาด ลมจะพัดพาเกสรของดอกปลิวไปที่อื่น ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ หรือตัวแมลงที่ช่วย ผสมเกสรจะเกาะเกสรไม่ได้ ทำให้เกิดผลน้อย ทางที่ดีควรปลูกต้นไม้อื่นบังลมไว้บ้าง เพราะนอกจากจะบังลมแล้วยังช่วยลดการระเหยของน้ำในดินและอากาศจะมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น