วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดินที่เหมาะกับการปลูกองุ่น

สภาพดิน น้ำ อากาศ ที่เหมาะสมต่อการปลูกองุ่น
ดินที่ใช้ในการปลูกองุ่น
การปลูกองุ่นให้ได้ผลดี ต้องพิจารณาพื้นที่ที่จะปลูก ดังนี้
  • ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี
  • มีอากาศที่เหมาะสม
  • เป็นพื้นที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวนหรือมีน้อย
ลักษณะของดิน
       แม้ว่าองุ่นจะขึ้นได้ในพื้นที่ดินเกือบทุกชนิดก็ตาม แต่สำหรับเมืองไทยเห็นว่าจำเป็นต้องเลือกดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสมบูรณ์ระบายน้ำได้ดีรวมทั้งดินมีความโปร่งชุ่มชื้น ซึ่งรากจะไชชอนหาอาหารได้ดีหากดินที่ปลูกขาดธาตุอาหารชนิดใดควรเสริมให้สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจดิน (Soil Surveys) ก่อนทำการปลูกองุ่น อย่าพึ่งลงมือปลูกหรือลงทุน เพราะต้องศึกษาเรื่องดินเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่า
  • เป็นดินชนิดไหน
  • เป็นดินอะไร และมีลักษณะอย่างไร
  • ที่ไหน
  • เหมาะสมหรือไม่
       ดินชนิดไหนที่องุ่นชอบและเจริญเติบโตได้ดีกว่ากัน หรือถ้าเกิดว่าดินที่มีอยู่แล้วนั้นยังไม่เหมาะสมเราจะปรับปรุงได้อย่างไร แต่ถ้าท่านใดปลูกองุ่นเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อที่จะแปรสภาพให้เป็นอย่างอื่นเรื่องดินก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องศึกษาหรือเป็นกังวลมากเกินเหตุนะคะ และวันแรกที่ได้เข้าห้องเรียน และเป็นวิชาที่จะต้องศึกษาเรื่องดิน ท่านอาจารย์ก็สั่งว่า อาทิตย์หน้าให้นักศึกษาทุกท่านไปขุดดิน ในที่ของตัวเองที่จะทำเป็นแปลงเป็นสาธิตมา และให้ทุกท่านขุดดินให้ลึกเท่าที่จะขุดได้ และให้เช็คทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างที่ปะปนอยู่กับดิน ดินสีอะไร (ทั้งออกแรงทั้งเสียเงิน) ถ้าจะให้ดีเราควรขุดดินให้ลึกมากกว่าหนึ่งเมตร จากนั้นทำการตรวจเช็คสภาพดิน และหินอย่างละเอียดเพื่อดูว่า รากขององุ่นจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีมากน้อยเพียงใด
       องุ่นเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตในสภาพดินที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ องุ่นสามารถปลูกได้ทั้งในสภาพดินที่เป็นดินทราย ดินร่วน ดิน เหนียว พื้นที่ลุ่มทางภาคกลางส่วนมากเป็นดินเหนียว และนิยมปลูกองุ่นแบบยกร่อง เช่นที่ราชบุรี เพราะถ้าองุ่นมีน้ำขังจะทำให้รากเน่าและต้นองุ่นตายได้
       ความเป็นกรด ด่าง ( pH ) ต้นองุ่นจะเจริญเติบโตในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.5-6.8 (Winker et al., 1974 อ้างถึงในกิตติพงศ์ , 2547 ) ในต่างประเทศ 4-9 Ref, เนื่องด้วยดินเป็นกรดมากจะไปทำลายระบบราก และการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารขององุ่น และถ้าดินที่ปลูกองุ่นมีความเป็นด่างมากเกินไปจะทำให้ธาตุอาหารหลักหรือธาตุอาหารที่จำเป็น และธาตุอาหารรองเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตขององุ่นอยู่ในรูปที่นำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ดังนั้นชาวสวนจึงต้องมีการปรับสภาพดินให้มีความเป็นกรด-ด่างให้เหมาะสม และการปรับสภาพดินก็อาจทำได้หลายวิธี เช่น
  • การใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรด ด่างของดิน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมใส่ปูนขาว แต่เกษตรกรควรนำดินไปตรวจกับนักวิชาการด้านปฐพีวิทยาเพื่อหาค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ว่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งก็จำเป็นในการคำนวณปูนขาว เพื่อความถูกต้องและลดต้นทุนในแรงงานใส่ปูนขาวและเงินทุน
  • การใช้วัสดุปรับปรุงดิน จากไร่องุ่นพรมชนจะควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างโดยการใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกร่วมกัน รวมไปถึงการใช้ปุ๋ยพืชสด แกลบ และวัสดุคุมดิน อยู่เสมอ
  • การใช้สารเคมี ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากและได้ผลิตสารเคมีที่ใช้ในการปรับสภาพดิน ซึ่งสารเคมีต่าง ๆ ก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ก่อนที่เกษตรกรจะเลือกใช้ ควรศึกษาคุณสมบัติของสารให้ดี
การจัดการดิน (Soil Management)
ควรรู้จักวิธีการดูแลรักษาดิน แล้วดินก็จะช่วยให้องุ่นเราได้ทำหน้าอย่างเต็มที่ค่ะ และการดูแลรักษาดินก็เช่น
  • ควรใส่ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เพื่อดูแลสิ่งมีชีวิตในดิน
  • ไม่ควรไถดินให้ลึกหรือใกล้รากองุ่นจนเกินไป เพราะอาจจะทำลายรากขององุ่น
  • เช็คค่า pH ของดินกับผู้มีความรู้เกี่ยวข้องกับดิน (4-9)Ref.
  • การเลือกปลูกพืชคุมดิน
สำหรับไร่องุ่นพรมชนนั้น ก่อนซื้อที่ดิน ผู้ปลูกได้สำรวจพื้นที่ทั้งหมด พอเห็นดินแล้วก็มีความมั่นใจทันทีว่าจะต้องปลูกองุ่นได้และนี่ก็คือปัจจัยแรก แต่อย่าลืมไปอ่านหรือศึกษาเรื่องดินจากหลาย ๆแหล่งหรือปรึกษาผู้ที่มีความรู้เรื่องดินก่อน และที่แน่ ๆ องุ่นหรือพืชเกือบทุกชนิดไม่ชอบน้ำขัง
สภาพอากาศที่องุ่นต้องการ
       อากาศ หรือภูมิอากาศ และภูมิประเทศ หรือสถานที่ที่มีความเหมาะสม ดิฉันคิดว่าผู้ที่เขียนเรื่ององุ่นหลายท่าน หรือที่ปรึกษาของท่านคงได้บอกไปแล้ว แต่ดิฉันก็อยากจะบอกหรืออยากระบายความในใจบางอย่างให้ท่านทราบอีก คงไม่ว่ากันนะ(ไม่ได้สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำนะคะ) แต่ที่แน่ ๆ ถ้าที่ไหนมีอากาศหรือสภาพแวดล้อมที่ดี สุขภาพของต้นไม้ก็น่าจะดีด้วย เหมือนกับหลายท่านที่ชอบไปกินบรรยากาศนอกสถานที่
  • ไม่อยู่ในที่แออัดควรมีลมพัดผ่านได้ดี
  • ไม่ควรปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่
  • ไม่ควรเลือกปลูกองุ่นในที่ลุ่มๆเพราะในฤดูฝนก็จะมีปัญหามากมายตามมา
  • สภาพอากาศหรืออุณหภูมิที่เหมาะสม มีหนาวบ้างก็จะดีค่ะ
  • ไม่จำเป็นต้องเลือกเขตที่มีความแห้งแล้งจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำค่ะ จะเห็นได้ว่าองุ่นขาดน้ำก็ไม่ได้ น้ำมากไปก็ไม่ดีนะคะ
  • แสงแดดเพียงพอ
น้ำกับองุ่น
1. การดูดน้ำทางระบบราก
       องุ่นที่ทนสภาพแห้แล้งได้เพราะมีระบบรากที่ลึก ถึงแม้ว่ารากส่วนใหญ่จะพบอยู่ประมาณ 40 ซม. จากผิวดิน แต่จะหนาแน่นกว่าพืชอื่นๆ(ในพืชอื่นการดูดน้ำส่วนใหญ่จะอยู่บนดินชั้นบน ประมาณ 40 % และ 10 % ในดินชั้นล่าง) ผิดกับองุ่นที่ยิ่งมีรากมากยิ่งดูดน้ำได้มาก ไม่ขึ้นกับความลึกของราก
ในดินร่วนและดินทรายรากองุ่นสามารถลงไปได้ลึกถึง 6 เมตร ส่วนของรากที่ดูดน้ำได้ดีอยู่ตรงบริเวณขนรากที่อยู่ถัดจากปลายรากฝอยเข้ามาและดูดได้น้อยลงในบริเวณที่แก่ขึ้นไปจนถึงโคนรากที่มีเปลือกหุ้ม ปลายรากฝอยที่ active นี้จะงอกเข้าหาดินที่มีความชื้นถึงแม้จะลึกถึง 6 เมตรก็ตาม แต่ก็เป็นแค่ความสามารถในการทนแล้งขององุ่นเท่านั้น การจะให้น้ำให้มีประสิทธิภาพก็คือให้ไปที่รากฝอยที่ส่วนใหญ่อยู่ไม่เกิน 40 ซม. จากผิวดิน ดังนั้น ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด จำเป็นต้องให้น้ำให้ส่วนดินบนที่มีรากฝอยส่วนใหญ่ ( 49 ซม. จากผิวดิน) ให้มีความชื้นที่เพียงพอ  
2. พื้นที่ผิวใบ
       ในตอนต้นฤดูหลังตัดแต่งยอดและใบแตกออกมายังเล็กอยู่ พิ้นที่ผิวของใบยังมีน้อยการระเหยน้ำ( transpiration) ก็น้อย แต่พอยอดยาวขึ้นใบใหญ่ขึ้นจำนวนใบมากขึ้นพื้นที่ใบมากขึ้นก็ระเหยน้ำมากขึ้น ในสภาพอากาศที่ร้อน ลมแรง ต้นองุ่นจะระเหยน้ำทางใบมากกว่าความสามารถที่รากจะดูดได้ทัน ใบอ่อนจะแสดงอาการขาดน้ำ ในสภาพที่ขาดน้ำลักษณะนี้ ต้นจะพยายามดึงน้ำจากส่วนอื่นๆของต้น เช่น จากราก ลำต้น กิ่ง ลูก เพี่อไปชดเชยที่ใบระเหยไป ส่งผลให้ขนาดของลูกเล็กลง ดังนั้นต้องคำนึงถึงสัดส่วนระหว่าง ราก: ใบ ให้ดี จำเป็นต้องมีการหยุดยอดเมื่อองุ่นมีใบมากพอที่จะเลี้ยงลูกได้(ปกติในบ้านเราประมาณ 17-22 ใบ ถ้าแต่ละปล้องยาวประมาณ 7 ซม. จะได้ยอดยาวประมาณ 1- 1.5 ซม. ) เพื่อควบคุมไม่ให้ สัดส่วน ราก: ใบ น้อยเกินไป และยังช่วยคุมทรงพุ่มไม่ให้มีกิ่งหรือใบที่ซ้อนทับบังแสงกัน ยิ่งทรงพุ่มยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งมีพื้นที่ผิวใบมาก การระเหยน้ำก็ยิ่งมากตามมาด้วย ดังนั้นต้นองุ่นยิ่งใหญ่ยิ่งต้องการน้ำมาก และบริเวณที่ได้รับน้ำต้องมากตามทรงพุ่มที่แผ่กว้างออกไปด้วย
3. ความต้องการน้ำตลอดฤดู     
พยายามรักษาความชื้นในดินบริเวณเขตรากไว้ให้สม่ำเสมอตลอดฤดู แต่อย่าให้ถึงกับแฉะ อาการขาดน้ำกับอาการ รากเสียเพราะแฉะนั้นเหมือนกันคือยอดหยุดเขียวเข้มขึ้น ส่วนใบแก่ก็เขียวเข้มขึ้นเช่นกัน
ความชื้นและอากาศ
       องุ่นเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง แสงแดดจัด ความชื้นในอากาศต่ำ ระดับน้ำฝนไม่ควรเกิน 40 นิ้ว และไม่น้อยกว่า 15 นิ้วต่อปี นอกจากนี้ ควรมีระบบชลประทานเข้าช่วย เพราะในบางระยะองุ่นมีความต้องการน้ำมาก เช่น ในระยะเริ่มติดผลปราศจากโรคและแมลงดินฟ้าอากาศมีส่วนทำให้แมลงเจริญเติบโตได้ง่ายการเลือกพื้นที่ ที่จะปลอดภัยจากโรคและแมลงอาจทำได้ยากอย่างไรก็ตาม ต้องสังเกตพื้นที่รอบ ๆ ที่จะปลูกองุ่น เช่น ไม่รกรุงรัง  ชาวไร่ข้างเคียงสนใจต่อการป้องกันโรคและแมลงหรือไม่   ทั้งนี้ในปัจจุบันความก้าวหน้าในการป้องกันโรคและแมลงมีความก้าวหน้ามาก สามารถที่จะต่อสู้ได้ แต่ก็ไม่ควรต้องลงทุนสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น