วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การทำค้างองุ่น

การทำค้างให้กับองุ่น
การทำค้างจะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบด้วยกันแต่แบบที่นิยมกันมากคือ ค้างแบบเสาคู่แล้วใช้ลวดขึง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้
การเลือกเสาค้าง เสาค้างอาจใช้เสาซีเมนต์หน้า 3 นิ้ว หรือ 4 นิ้วก็ได้ เสาค้างซีเมนต์จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานหลายปี แต่มีราคาแพงและหนัก เวลาทำค้างต้องเสียแรงงงานมาก ถ้าใช้เสาไม้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้า 2x3 นิ้ว หรือหน้า 2x4 นิ้ว หรือเสากลมก็ได้ เสาควรยาวประมาณ 2.5- 3 เมตร หรือยาวกว่านี้ ซึ่งเมื่อปักลงดินเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดินประมาณ 1.50 เมตร
การปักเสา ให้ปักเป็นคู่ 2 ข้างของแปลงในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตร และเมื่อติดคานแล้ว ให้เหลือหัวไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างๆ ละ 50 เซนติเมตร (ดังภาพแบบที่ 1) ถ้าปักเสาห่างกัน 3 เมตร เมื่อติดคานบนแล้วจะพอดีหัวไม้ (ตามภาพแบบที่ 2) การติดคานเชื่อมระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ใช้น๊อตเหล็กเป็นตัวยึด ไม่ควรยึดด้วยตะปูเพราะจะไม่แข็งแรงพอ ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละคู่ประมาณ 10- 20 เมตร ยิ่งปักเสาถี่จะยิ่งแข็งแรงทนทานแต่ก็สิ้นเปลืองมากบางแห่งจึงปักเสาเพียง 3 คู่ คือ หัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง และระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ ซึ่งก็สามารถใช้ได้และประหยัดดีแต่ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อย
การขึงลวด ลวดที่ใช้ทำค้าง ให้ใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควรคือ ลวดเบอร์ 11 ซึ่งลวดเบอร์ 11 หนัก 1 กิโลกรัม จะยาวประมาณ 18 เมตร ให้ขึงลวดพาดไปตามคานแต่ละคู่ตลอดความยาวของแปลง โดยใช้ลวด 4-6 เส้น เว้นระยะลวดให้ห่างเท่าๆ กัน ที่หัวแปลงและท้ายแปลงให้ใช้หลักไม้ขนาดใหญ่ตอกฝังลงไปในดินให้แน่น แล้วใช้ลวดโยงจากค้างมามัดไว้ที่หลักนี้เพื่อให้ลวดตึง หลังจากขึงลวดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่ ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง แล้วใช้ไม้รวกอีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมากจำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนักหรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน
การทำค้างองุ่น ที่นิยมกันมี 3 แบบ ดังนี้
1. การทำค้างแบบร้านสูง หรือร้านเตี้ย โดยใช้ไม้ระแนงตีเป็นร้านจะให้สูงหรือ เตี้ยก็แล้วแต่ความต้องการหรือจะใช้ลวดตาข่ายห่าง ๆ ขึงก็ได้ เมื่อองุ่นออกผลพวงองุ่นจะห้อยลงมาใต้ร้าน แต่ มีข้อเสียก็คือ ยากแก่การตัดแต่ง และการป้องกันโรค
2. การทำค้างแบบรั้ว วิธีการคือ ใช้เสาไม้หรือเสาซีเมนต์หรือเสาเหล็กปักเป็นแถวยาว เสาต้นแรกและต้นสุดท้ายต้องแข็งแรง เพื่อเป็นตัวยึดเหนี่ยวลวดในเวลาขึงจะได้มั่นคง ส่วนเสาตรงกลางจะเล็กบางก็ได้ความสูงของเสาเมื่อปักลงไปในดินแล้วให้เหลือความสูงไว้เท่ากับความสูงของคน หรือสูงกว่าเล็กน้อยการปักเสาห่างกันประมาณ 12 - 15 ฟุต การขึงลวดจะขึงกี่เส้นก็ได้ แต่ลวดเส้นล่างต้องสูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ลวดที่ใช้ขึงจะใช้ลวด เบอร์ 9 หรือเบอร์ 10 หรือเบอร์ 11 ก็ได้แต่มือองุ่นมักชอบเกาะลวดเส้นเล็กมากกว่าลวดเส้นใหญ่ หากไม่ใช้ลวดขึงจะใช้ ไม้ระแนงแทนลวดก็ได้ แต่จะสิ้นเปลืองมากว่าการใช้ลวด  ข้อดี ของการทำค้างแบบรั้ว คือ สะดวกต่อการตัดแต่ง การบำรุงรักษา การป้องกันโรคและศัตรูพืช
3. การทำค้างแบบค้างเตี้ยเป็นรูปตัวที หรือรูปไม้กางเขน โดยใช้เสาไม้หรือเสาซีเมนต์ปักเป็นแถวให้สูงจากพื้นดิน 5 - 6 ฟุต ตอนบนของหัวเสาใช้ไม้ตีเป็นรูปไม้กางเขนยาว 1.00 - 1.20 เมตร สามารถขึ้นลวดได้ 3 – 4 แถว เพื่อให้เถาองุ่นจับเกาะค้าง แบบนี้ใบองุ่นสามารถรับ แสงแดดได้เต็มที่ ง่ายต่อการตัดแต่งและการป้องกันโรควัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทำค้างองุ่น ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุดังกล่าวเสมอไป จะใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้รวกก็ได้ตามความเหมาะสม ทั้งในด้านความสะดวกและการประหยัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น